มีคำกล่าวที่ว่า “คนไทยเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน และเจ้าสำบัดสำนวน” ซึ่งหมายความว่า คนไทยเป็นคนที่ชอบคำคล้องจอง และชอบพูดเปรียบเปรยให้เห็นภาพที่สามารถแสดงความรู้สึกหรือสิ่งที่ต้องการจะสื่อได้อย่างชัดเจน ภาษาไทยจึงร่ำรวยไปด้วย สำนวน ภาษิต และคำพังเพย มากมาย

ตามความหมายของพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า สำนวน ว่า “ถ้อยคำที่เรียบเรียง โวหาร บางครั้งก็ใช้ว่า สำนวนโวหาร; คดี เช่น ปิดสำนวน ; ถ้อยคำที่ไม่ถูกไวยากรณ์ แต่รับใช้เป็นภาษาถูกต้อง, การแสดงถ้อยคำออกมาเป็นข้อความพิเศษเฉพาะภาษาหนึ่งๆ ; ลักษณะนามใช้เรียกข้อความรายหนึ่งๆ เช่น ข้อความสำนวนหนึ่ง บทความสำนวนหนึ่ง” ส่วน ภาษิต หมายถึง “คำกล่าว, ตามศัพท์ที่เป็นคำกลางๆ ใช้ทั้งทางดี ทางชั่ว แต่โดยความหมายแล้วประสงค์คำกล่าวที่ถือว่าเป็นคติ” และ คำพังเพย มีความหมายว่าหมายถึง “คำกลางที่กล่าวไว้ให้ตีความเข้าเรื่อง”

ทั้ง สำนวน ภาษิต และคำพังเพย มักจะใช้รวมๆ ในการเปรียบเปรย ชี้ให้เห็นเหตุการณ์ หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น บางครั้งเป็นการสอนให้รู้ถึงสิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ เช่น “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” หมายถึง ความสวยความงาม ย่อมเกิดขึ้นได้จากการปรุงแต่ง คนจะสวยได้ก็เพราะการแต่งหน้าแต่งตัว , “เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน” หมายถึง ขยันทำงาน แม้ได้เงินเพียงเล็กน้อยก็เอา , “น้ำขึ้นให้รีบตัก”หมายถึง เมื่อโอกาสมาถึง ก็ควรจะรีบไขว่คว้า ฯลฯ

ในสำนวน ภาษิต และคำพังเพย มีอยู่ไม่น้อยที่เกี่ยวข้องกับ “อัญมณี” ซึ่งในสมัยโบราณนั้น คำที่ใช้เรียกอัญมณีมีเพียงไม่กี่ประเภทคือ เพชร พลอย หยก และ แก้ว ดังนั้น สำนวนทั้งหลายจึงเกี่ยวข้องกับชื่อเหล่านี้

 

สำนวนเกี่ยวกับ เพชร อาทิ “เพชรน้ำเอก” หรือเพชรน้ำหนึ่ง หมายถึง เป็นวิเศษ ยอดเยี่ยม ใช้สำหรับการยกย่องเชิดชูบุคคลหรือผลงานที่มีค่ามาก  ,”เพชรร้าว” หมายถึง ไม่บริสุทธิ์ มีตำหนิ , “เพชรตัดเพชร” หมายถึง คนสองคนที่มีความสามารถสูง เก่งกาจทัดเทียมกัน ต้องมาแข่งขันกัน ก็ยากที่จะเอาชนะกันได้  , “ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร” เป็นคำอวยพรให้แก่คู่บ่าวสาวให้อยู่ด้วยกันจนแก่เฒ่า มีความสุขบริบูรณ์ด้วยทรัพย์ ยศและความดี , “ขี้เถ้ากลบเพชร” หมายถึง ตอนแรกทำได้ดี แต่ต่อมามีข้อบกพร่องทำให้เสียหาย , “เพชรในตม” หมายถึง สิ่งที่มีคุณค่าหรือคนที่ดีมีความสามารถสูงแต่ไปอยู่ในแหล่งที่ไม่ดี

สำนวนเกี่ยวกับ พลอย ที่เราคุ้นเคยกันดีคือ “ไก่ได้พลอย” หมายถึง คนที่ได้ของมีค่าแต่ไม่รู้จัก หรือไม่เข้าใจคุณค่าของสิ่งนั้น จึงไม่สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้

ส่วนสำนวนเกี่ยวกับ หยก อาทิหนุ่มหน้าหยก” หมายถึง ชายหนุ่มที่มีใบหน้าหล่อเหลา เกลี้ยงเกลา ใสสะอาด , “กิ่งทองใบหยก” หมายถึง คู่หนุ่มสาวที่มีความเหมาะสมกันมาก ทั้งชาติตระกูล ฐานะ รูปร่างหน้าตา

และสำนวนเกี่ยวกับ แก้ว  อาทิ “แก้วสารพัดนึก” หมายถึง สิ่งที่สามารถดลบันดาลให้ผู้ครอบครองได้สมดังความปรารถนา , “ลิงได้แก้ว” มีความหมายใกล้เคียงกับไก่ได้พลอย คือได้ของสูงค่าแต่ไม่รู้คุณค่าของสิ่งนั้น , “ชั่วเป็นชี ดีเป็นแก้ว” หมายถึง สนใจแต่คนดี คนไม่ดีไม่สนใจ , “ดีดลูกคิดรางแก้ว” หมายถึง หัวการค้า มองทุกอย่างเป็นกำไรขาดทุน, “แก้วตาดวงใจ” หมายถึง คนที่รักมาก (ส่วนใหญ่ใช้กับบุตร) ,”ดีใจเหมือนได้แก้ว” หมายถึง ดีใจมาก , “แก้วร้าว” หมายถึง สิ่งที่เสียหายไปแล้วไม่สามารถทำให้เป็นเหมือนเดิมได้ เช่น ความสัมพันธ์ของคน เมื่อผิดใจกันแล้ว ก็ยากจะคืนดี

การเปรียบเปรยเหล่านี้ ทำให้การสรุปความคิดมีความชัดเจน เมื่อเกิดอะไรขึ้น ก็สามารถอธิบายได้ด้วยสำนวนภาษาที่ทุกคนสามารถเข้าใจตรงกันได้ แม้ว่าบางสำนวน อาจไม่คุ้นหู หรือไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่การพยายามทำความเข้าใจกับความหมายเหล่านี้ ลองเอามาใช้ในชีวิตประจำวันดู ก็นับเป็นการเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการใช้ภาษาไทย และยังเป็นการซึบซับคติสอนใจซึ่งเป็นคุณค่าความดีงามจากอดีตสู่ปัจจุบัน

หากจิตใจคน สามารถดำรงคุณค่าความดีงามไว้ได้ ก็อาจเปรียบได้กับ “อัญมณี” ที่เปล่งประกาย ทั้งยกตนให้สูงขึ้นด้วยความดี และยกสังคมแวดล้อมให้ดีขึ้นพร้อมๆ กัน

บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ
กรณีต้องการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิง กรุณาติดต่อทีมงานค่ะผ่าน LINE: @LenyaJewelry ค่ะ