แม้จะเป็นประเทศเล็กๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ประเทศไทยก็เป็นที่รู้จักของต่างประเทศในหลายๆ ด้านนอกจากชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ความมีน้ำใจและเป็นกันเองของคนไทยแล้ว ประเทศไทยยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงในระดับโลกมาเป็นเวลานาน นั่นคือ “อัญมณี”

มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สืบย้อนได้ว่า มีการขุดหาพลอยและเจียรไนพลอย ตั้งแต่สมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แหล่งอัญมณีเก่าแก่ทั้ง 2 เมืองคือ “เมืองกาญจน์”(จังหวัดกาญจนบุรี) และ “เมืองจันทร์” (จังหวัดจันทบุรี) ได้มีการขุดหาอัญมณีมาเป็นเวลานานนับร้อยปี จากการขุดหาแบบชาวบ้าน พัฒนาไปสู่การทำเหมืองขนาดใหญ่ และอัญมณีสำคัญที่ได้จากการขุดค้น ก็คือ พลอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลอยสีแดงเข้มที่เรียกว่า “ทับทิมสยาม”

“ทับทิมสยาม” (King Ruby) คืออัญมณีของไทยที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก จนได้รับการยกย่องว่า มีคุณค่าและความงามเป็นรองเพียงแค่ “เพชร” ซึ่งถือเป็นสุดยอดอัญมณีเท่านั้น แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ปัจจุบัน พลอยเริ่มหายากมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าในประเทศไทย การขุดหาพลอยจะลดน้อยลงไปจนต้องนำเข้าพลอยจากต่างประเทศ แต่ฝีมือด้านการเจียระไนและการทำเครื่องประดับอัญมณีของช่างไทย ยังโดดเด่นไม่แพ้ใคร

โดยเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอัญมณี เป็นภาคธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกมากถึง 4.5 แสนล้านบาท นับเป็นอันดับ 3 รองจากอุตสาหกรรมรถยนต์และคอมพิวเตอร์

รวมทั้งในการจัดอันดับในระดับโลก ประเทศไทยมีการส่งออกพลอยเนื้อแข็งเจียระไนเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ด้วยมูลค่า 200.28 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออกพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนได้ในอันดับที่ 3 ของโลก ด้วยมูลค่า 105.19 ล้านเหรียญสหรัฐ นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมอัญมณีของไทยได้รับความนิยมอย่างสูงยิ่ง และมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในอนาคต

หลายคนอาจมองว่า พลอยได้รับความนิยม ขายได้มากในต่างประเทศ เนื่องจากราคาไม่แพง แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว พลอยที่หายากเช่น ทับทิมสยาม มีราคาสูงพอๆ กับเพชร หรืออาจจะมากกว่า นอกจากนี้ เมื่อนำพลอยไปผ่านกระบวนการทำเป็นเครื่องประดับแล้ว การออกแบบที่โดดเด่นและฝีมือช่างของไทยซึ่งมีมาตรฐานสูง ก็ทำให้เครื่องประดับระดับ Premium มีราคาเป็นเลขหกหลักได้เหมือนกัน

ปี 2558 ที่จะมาถึงนี้ ประเทศไทยจะเข้าร่วมประชาคมอาเซียน ซึ่งหมายถึงการแข่งขันที่สูงขึ้น แต่สำหรับอุตสาหกรรมอัญมณีไทย ยังนับว่ามีความสามารถด้านการแข่งขันสูงกว่าเพื่อนบ้าน เพราะแม้ว่าเราจะไม่สามารถขุดหาพลอยดิบได้มากเท่ากับพม่า แต่เราก็มีจุดแข็งด้านการเจียระไน การทำเครื่องประดับ และตลาดที่มีมูลค่าสูงกว่า นอกจากนี้ เรายังจะได้ประโยชน์จากการนำเข้าวัตถุดิบกลุ่มพลอยสี คือไพลิน ทับทิม หยก เพทาย และตลาดใหม่ที่กำลังเติบโตคือประเทศอินโดนีเซีย และประเทศเวียดนาม

แม้ว่าอนาคตจะเต็มไปด้วยความผันผวน ความไม่แน่นอน แต่สำหรับอุตสาหกรรมด้านอัญมณีซึ่งเคยผ่านช่วงรุ่งเรือง ช่วงตกต่ำ จนกลับมาสู่ขาขึ้นอีกครั้ง นับได้ว่า มีประสบการณ์และความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะแข่งขัน ไม่ว่าในระดับอาเซียน ระดับเอเชีย หรือระดับโลก

เราคนไทย แม้จะไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตหรือในธุรกิจอัญมณี แต่เราก็สามารถช่วยสนับสนุนได้ ด้วยการเลือกซื้อเครื่องประดับอัญมณีฝีมือผู้ผลิตไทย จะเป็นของขวัญให้ตัวเอง หรือเป็นของขวัญสุดพิเศษให้กับคนรักก็ตาม

ทั้งยังสามารถกล่าวได้อย่างภาคภูมิใจว่า เครื่องประดับอัญมณีทุกชิ้นที่เราซื้อไปนั้น มีมาตรฐานและคุณภาพทัดเทียมกับระดับสากล

บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ
กรณีต้องการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิง กรุณาติดต่อทีมงานค่ะผ่าน LINE: @LenyaJewelry ค่ะ