LenYa Online Jewelry Store

เพชร (Diamond)

เพชร (Diamond) เป็นอัญมณีที่มีประกายสวยงาม  เนื่องจากแสงสามารถส่องผ่านเข้าไปในเพชร และสามารถสะท้อนกลับออกมาสู่ตาได้อย่างรวดเร็ว เพชรเป็นแร่ที่มีโครงสร้างที่กำเหนิดมาจาก ธาตุคาร์บอน เมื่อพูดถึงค่าความแข็งของเพชรนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า เพชรเป็นแร่ที่มีความแข็งมากที่สุด  และถูกจัดให้อยู่ระดับสูงสุดคือ ระดับ 10 ความแข็งที่ว่านี้คือ ต้องทนต้องแรงขูดขีดที่กระทำบนวัตถุ แต่หากใช้แร่ที่มีค่าความแข็งเท่ากันก็สามารถทำให้เกิดรอยขีดข่วนได้เช่นกัน แต่ความแข็งที่ว่านี้ก็ไม่ได้หมายความว่าแข็งมากแล้วจะไม่แตก หรือบุบสลาย เพชรสามารถแตกได้ เมื่อถูกกระทบในจุดที่เปราะบางมากพอเช่นเดียวกัน

เพชรมีหลายสี สีที่นิยมที่สุดคือสีขาวบริสุทธิ์ สีที่หายากคือสีแดง ฟ้า เขียว ส้ม ชมพู เรียก "แฟนซีไดมอนด์" มีราคาสูงมาก การเจียระไนเป็น 52 เหลี่ยมนับว่าสวยที่สุด เพชรเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ความแข็งแกร่ง แหล่งของเพชรมีอยู่ทั่วโลก ส่วนมากพบที่บราซิลและแอฟริกาใต้

หลักสากล 4Cs แบ่งออกเป็น 4 จำพวกคือ

ระดับความบริสุทธิ์( Clarity) : เป็นคุณภาพที่เกิดตามธรรมชาติของเพชร

  • Flawless(FL) : ถือได้ว่าเป็นเพชรชั้นยอด และน้ำงามมากที่สุด ไม่มีตำหนิหรือมลทินใดๆ ทั้งในเนื้อเพชรและผิวของเพชร เมื่อมองภายใต้กล้องกำลังขยายขนาด 10 เท่า(10X)
  • Internally Flawless(IF) : ถือได้ว่าเป็นเพชรชั้นยอดอีกระดับนึง ไม่มีตำหนิภายในเนื้อเพชรเลย เมื่อมองภายใต้กล้องกำลังขยายขนาด 10 เท่า(10X)
  • Very Very Slightly Included(VVS1/VVS2) : ถือได้ว่าเป็นเพชรที่มีมลทินในเนื้อเพชรระดับที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องกำลังขยายขนาด 10 เท่า(10X) จึงส่องเห็น ถ้าหากตำหนิน้อยมากคุณภาพจะอยู่ที่ระดับ VVS1 หากตำหนิที่สามารถมองเห็นได้ง่ายกว่าคุณภาพจะอยู่ที่ระดับ VVS2
  • Very Slight Included(VS1/VS2) : ถือได้ว่าเป็นเพชรที่มีมลทินในเนื้อเพชรระดับที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องกำลังขยายขนาด 10 เท่า(10X) จึงส่องเห็น และตำหนิจะหาได้ง่ายกว่าความสะอาดระดับ VVS และอาจมีสีต่างๆในเนื้อของมลทินที่สามารถมองเห็นได้
  • Slightly Included(SI1/SI2) : ถือได้ว่าเป็นเพชรที่มีระดับของมลทินที่สามารถมองเห็นได้ในทันที เมื่อส่องด้วยกล้องกำลังขยายขนาด 10 เท่า(10x) และยังมีบางกรณที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอีกด้วย
  • Imperfect(I1/I2/I3) : ถือได้ว่าเป็นเพชรที่มีระดับของมลทินแย่ที่สุด ซึ่งมีเยอะมาก จนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน

กะรัต(Carat) : เมื่อเพชรเกิดได้ยากตามธรรมชาติ การที่จะค้นหาขนาดของเพชรจึงถูกนำมาพิจารณาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำการแบ่งคุณภาพของเพชรได้ น้ำหนักจึงเป็นมาตรฐานในการวัดเอาน้ำหนักของอัญมณี ซึ่งน้ำหนักของเพชรนั้น 1 กะรัต เท่ากับ 100สตางค์ เทียบเท่ากับมาตราเมตริกได้ 0.2 กรัม ทั้งนี้มาตรน้ำหนักกะรัตนี้ ยังพ้องเสียงกับคำว่า กะรัต(Karat) ที่ใช้วัดระดับความบริสุทธิ์ของทองคำอีกด้วย ซึ่งทองคำมีค่าความบริสุทธิ์ 99.99% มีค่าเท่ากับ 24 กะรัต ซึ่งที่มาของคำว่ากะรัตนั้น มาจากเมล็ดของผล การัต ซึ่งเมล็ดของผลชนิดนี้จะมีน้ำหนักเท่ากันทุกเมล็ด ซึ่งในสมัยโบราณนิยมใช้เมล็ดผลการัต มาเป็นหน่วยการวัดน้ำหนักของอัญมณี

สี(Color) : เป็นคุณภาพที่เกิดจากธรรมชาติของเพชร และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งการจำแนกเฉดสีของเพชรนั้นสามารถเรียงจาก D ไปถึง Z เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสารคุณภาพสีของเพชรได้ดีที่สุด โดยใช้ตัวอักษร D ในการแทนสีของเพชรที่มีคุณค่าสูงที่สุด เพราะไม่มีสีอื่นใดมาเจือปนเลย จึงเรียกได้ว่าไม่มีสี(Colorless) ระดับสองรองลงมาคือ ตัวอักษรE, F, G ในการแทนสีที่มีสีอื่นเริ่มเจือปนเข้ามา ระดับเกือบไร้สี(Near Colorless)  ระดับสามรองลงมาคือ ตัวอักษร H, I, J ในการแทนสีเหลืองอ่อนมากๆ จนกระทั่งระดับที่สี่คือ ตัวอักษร N ระดับสีเหลืองอ่อน(Pale Yellow) และไล่ระดับต่อๆไปเรื่อยๆจนถึง Z เห็นสีเหลืองได้อย่างชัดเจน แต่สำหรับคนไทยจะเรียกว่า “น้ำ” เพชรน้ำยิ่งสูงก็จะยิ่งขาวและไม่มีสิ่งเจือปน ซึ่งจะสามารถเปรียบเทียบกับสถาบัน GIA ดังนี้

  • น้ำ   100       เท่ากับ               อักษร D
  • น้ำ   99         เท่ากับ               อักษร E
  • น้ำ   98         เท่ากับ               อักษร F
  • น้ำ   97         เท่ากับ               อักษร G
  • น้ำ   96         เท่ากับ               อักษร H
  • น้ำ   95         เท่ากับ               อักษร I
  • น้ำ   94         เท่ากับ               อักษร J
  • น้ำ   93         เท่ากับ               อักษร K
  • น้ำ   92         เท่ากับ               อักษร L
  • น้ำ   91         เท่ากับ               อักษร M

รูปแบบและทรงในการเจียระไน(Cut) : เป็นการวัดระดับคุณภาพในความปราณีตของมนุษย์ที่มาทำการขัดแต่งเหลี่ยมต่างๆของเพชรให้มีความสวยงามในเรื่องของประกาย เพื่อทำให้คุณค่าของเพชรเพิ่มมูลค่าขึ้นไปอีกเช่นเดียวกัน โดยทั่วไปแล้วการเจียระไนเพชรนั้นมีด้วยกัน 4 รูปแบบหลักคือ

  • Brilliant – Cuts : แบบเหลี่ยมเกสร
  • Step – Cuts : แบบขั้นบันได
  • Mixed – Cuts : แบบผสม
  • Fancy – Cuts : แบบแฟนซี

โดยทั่วไปแล้ว Brilliant – Cuts ถือเป็นแบบที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากเป็นการเจียระไนที่สูญเสียเพชรน้อยที่สุดแล้ว แถมยังทำให้เพชรมีไฟสวยที่สุดอีกด้วย 

 

วิธีการดูแลรักษาเครื่องประดับเพชร

            สามารถทำได้ง่ายโดย ใช้น้ำยาล้างจิวเวลลี่ผสมกับน้ำอุ่น แล้วนำเครื่องประดับเพชรลงไปแช่ทิ้งไว้จนกว่าน้ำจะมีอุณหภูมิปกติ จากนั้นให้ใช้แปรงสีฟันขนอ่อนแปรงที่ตัวเรือนเครื่องประดับ เพื่อปัดความสกปรกของคราบต่างๆออกไป แล้วล้างด้วยน้ำอุ่นให้สะอาด หากสังเกตว่าเครื่องประดับเพชรยังสะอาดไม่เพียงพอให้ทำซ้ำอีกครั้ง เมื่อล้างทำความสะอาดดีแล้ว ให้ใช้ผ้านิ่มๆเช็ดให้แห้ง การเก็บเครื่องประดับเพชรควรเก็บแยกจากเครื่องประดับเพชรด้วยกันเอง รวมถึงอัญมณีชนิดอื่น เพราะเพชรอาจจะขูดขีดกันเองทำให้เพชรมีรอบขูดขีดที่หน้าเพชรได้ค่ะ

 

 

บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ
กรณีต้องการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิง กรุณาติดต่อทีมงานค่ะผ่าน LINE: @LenyaJewelry ค่ะ