ปกติเราจะไม่ค่อยได้เห็น พระนามบัตรของในหลวง กันนัก เพราะเป็นของใช้ส่วนพระองค์
แต่ในวารสาร “ในวงการพิมพ์” (http://www.thethaiprinter.com) กล่าวไว้ จากบทสัมภาษณ์ของ คุณฮิโรมิ อินาโยชิ นักออกแบบชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ออกแบบพระนามบัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ชุดที่เห็นอยู่นี้ มีที่มาจากการจัด นิทรรศการแสดงผลงานการออกแบบสัญลักษณ์และสี ในงานของสหประชาชาติ ณ โรงแรมพลาซ่าแอทธินี เมื่อปี พ.ศ. 2545
บุคคลในสำนักพระราชวังได้เห็นฝีมือ คุณฮิโรมิ ได้หารือถึงการสร้างสรรค์ผลงานออกแบบ “พระนามบัตรในหลวง” เพื่อถวายเนื่องในวโรกาสครบรอบ 75 พรรษา โดยสรุปออกมาเป็นการออกแบบ พระนามบัตร 4 แบบ ดังนี้
พระนามบัตร 4 แบบของในหลวงรัชกาลที่ 9
- แบบที่ 1 คอนเซ็ปต์มาจาก ตัว “A” ซึ่งเป็นพระนามของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ “อดุลยเดช” และส่วนของจุดสีที่อยู่ภายใน แทนสีของแก้วนพรัตน์ หรืออัญมณี 9 ประการ อันเป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์
- แบบที่ 2 คอนเซ็ปต์มาจากการ สวัสดี โดยนำการพนมมือไหว้ของคนไทย ที่สื่อได้ถึงเอกลักษณ์ของความเป็นคนไทย และมีจุดสีของแก้วนพรัตน์รายล้อมอยู่ภายใน สื่อถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ของไทยเหมือนแบบที่ 1
- แบบที่ 3 คอนเซ็ปต์มาจาก เครื่องดนตรีของพระองค์ คือ แซกโซโฟน ซึ่งในหลวงทรงโปรดแซกโซโฟนเป็นพิเศษ และมีจุดสีของแก้วนพรัตน์แสดงเอกลักษณ์ของพระมหากษัตริย์อีกเช่นกัน
- แบบที่ 4 คอนเซ็ปต์มาจาก พระนาม “ภูมิพล” ซึ่งภาษาอังกฤษขึ้นต้นด้วยตัว “B” ออกแบบรูปร่างปีกพญาครุฑ ภายในจัดวางจุดสีแก้วนพรัตน์ที่ยังคงแสดงเอกลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ เป็นแนวทางเดียวกันหมดของพระนามบัตรทั้ง 4 แบบ
การออกแบบ “พระนามบัตร” เน้นภาพสัญลักษณ์มากกว่าสื่อความหมายด้วยตัวอักษรเหมือนนามบัตรทั่วไป คุณฮิโรมิ อธิบายแนวคิดการออกแบบของเค้าว่า ที่จริงแล้วการออกแบบนามบัตรทั่วไปส่วนใหญ่ไม่ถูกต้อง ถ้าจะพูดถึงการติดต่อในระดับนานานาชาติ ที่นิยมการทำเป็นสัญลักษณ์มากกว่าจะใช้ตัวอักษร
“นามบัตรที่ดี ไม่นิยมพิมพ์ ชื่อตัวเอง หรือ ชื่อบุคคลขนาดใหญ่ จะออกแบบตัวหนังสือแค่ให้ดูเป็นมันขึ้นมา และสื่อภาษาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนามบัตรของพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่จำเป็นต้องเน้นชื่อ และไม่ต้องใส่ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ สื่อเพียงแค่เป็นพระมหากษัตริย์ของไทยก็เพียงพอ”
คุณฮิโรมิ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จริงๆ แล้วการออกแบบสัญลักษณ์ ไม่เหมือนกับภาพวาดทั่วไป ที่มองของจริงแล้ววาดภาพเหมือนออกมา แต่งานออกแบบของตนเองไม่ได้ทำออกมาให้เหมือนจริง หรือวาดภาพเหมือน แต่เป็นการใช้จินตนาการ สร้างเป็นภาพออกมาเป็นสัญลักษณ์แทนตัวบุคคลคนนั้น และ พระองค์ท่านได้ทรงใช้พระราชทานแก่บุคคลอื่นด้วย เห็นได้จากมีรับสั่งให้พิมพ์พระนามบัตรเพิ่ม โดยโรงพิมพ์ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ดำเนินการ
พระนามบัตรชุดนี้เป็นการออกแบบสัญลักษณ์ใช้เป็นการส่วนพระองค์มาก และไม่เป็นทางการ เพราะที่เป็นทางการในหลวงท่านจะต้องมีตราประจำรัชกาล หรือตราสัญลักษณ์เนื่องในวโรกาสต่างๆ อยู่แล้ว สิ่งที่คิดขณะออกแบบ จึงไม่ได้มุ่งหวังให้งานออกมาเป็นการ และสิ่งที่คำนึงถึงอย่างมาก คือเรื่องการพิมพ์ ซึ่งจะต้องมีลูกเล่นแปลกตา มีความหมายที่ไม่ซ้ำแบบใคร และต้องลอกเลียนแบบยาก
“ระบบการพิมพ์ต้องพิถีพิถัน เช่น การใช้สีพิเศษ กระดาษต้องเป็นของ Arjo Wiggins Fine ซึ่งเป็นกระดาษของฝรั่งเศสเท่านั้น เครื่องพิมพ์ กำหนดให้ใช้เฉพาะเครื่องพิมพ์โรแลนด์และไฮเดลเบิร์กเท่านั้น รวมทั้งกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ให้โรงพิมพ์ดำเนินการทั้งหมดเลย รวมทั้งเข้าไปดูแลและควบคุมการพิมพ์งานด้วยตัวเองด้วย”
ขั้นตอนการพิมพ์ “พระนามบัตร” จะทำการพิมพ์สีพื้นก่อน แล้วพิมพ์ฟอยล์ตบท้าย ส่วนจุดสีของนพรัตน์หรืออัญมณีทั้ง 9 เม็ด ต้องพิมพ์ทั้งหมด 18 สี คือ พิมพ์ครั้งแรก สี 1 รอบ และพิมพ์ 9 สีอีก 1 รอบทับเป็นครั้งที่ 2 เท่ากับว่า แต่ละสีมีการพิมพ์ 2 ครั้ง กว่าจะได้ผลงานออกมาอย่างที่ได้ตั้งใจ ต้องทำการพิมพ์ทดสอบถึง 12 ครั้ง
เห็นแล้วจัดว่าสวยคลาสสิค และสื่อถึงความเป็นพระองค์ท่านได้อย่างครบถ้วนจริงๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก คลังกระทู้ pantip.com
บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ
กรณีต้องการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิง กรุณาติดต่อทีมงานค่ะผ่าน LINE: @LenyaJewelry ค่ะ