<img alt="" "="" class="img-responsive" data-cke-saved-src="http://img.lenyajewelry.com/Gallery/1000/42612_7141717593.jpg" src="http://img.lenyajewelry.com/Gallery/1000/42612_7141717593.jpg">ราวศตวรรษที่ 19 ภายหลังยุคสมัยแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม นี่คือช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุค Post Impressionism ของชาวยุโรปอย่างแท้จริงก็ว่าได้ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการล่าอาณานิคม อังกฤษคือมหาอำนาจชาติแรก ที่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ศิลปะประจำชาติ และประเพณีท้องถิ่น ที่ผสมผสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาติตน จนกลายเป็นรูปแบบของศิลปะแนวใหม่ ที่เรียกกันว่า “อาร์ต นูโว” (Art Nouveau) นั่นเอง

อาร์ต นูโว (Art Nouveau) ปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ โดยกลุ่มศิลปินกลาสโกว์สคูล ที่ปรารถนาจะนำเสนอแนวทางของศิลปะรูปแบบใหม่ ที่ผสมผสานกันระหว่าง Art and Craft หรือศิลปะและงาน โดยเน้นรูปแบบงานศิลปะและการออกแบบที่มีการผสมผสานระหว่างศิลปะแนวใหม่ และรูปทรงศิลปะแบบดั้งเดิม ที่ยังคงเน้นรูปทรงและลวดลายแบบธรรมชาติ ในวิถีของการออกแบบที่อ่อนช้อย เกี่ยวกระหวัด เหนี่ยวพัน และพลิ้วไหว ในรูปแบบที่เรียกว่า Noodle Style แต่กระนั้นก็มิได้ยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ ของศิลปะการออกแบบที่มีมาก่อนหน้านี้โดยสิ้นเชิง หรืออาจกล่าวได้ว่า อาร์ต นูโว ถือเป็นรูปแบบศิลปะการออกแบบที่ไม่เพียงให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์เท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของมิติ และรูปทรงอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เราจะพบรูปทรงทั้งแบบ 3 มิติ และสองมิติ ในงานออกแบบเครื่องประดับตามแนวทางของศิลปะ อาร์ต นูโว…

นอกจากนี้ ยังพบว่าลักษณะการออกแบบเครื่องประดับสไตล์อาร์ต นูโวนั้น ได้มีการผสมผสานจินตนาการที่หลากหลายมาจากเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวันอีกด้วย อาทิ รูปแบบของธรรมชาติ เช่น ดอกไม้ ใบไม้ ผีเสื้อ นกฮูก นกยูง แมลงปอ งู ไก่ ค้างคาว รวมไปถึงสัตว์ในจินตนาการอย่างสฟริงซ์ เป็นต้น  อีกทั้งยังมีการนำเอาวัฒนธรรมต่างถิ่น เรื่องราวของบุคคลสำคัญ ความงามของอิสตรี และเรื่องราวจากวรรณกรรมสำคัญต่างๆ มาเรียงร้อยเป็นเรื่องราวในงานออกแบบอีกด้วย

สำหรับศิลปินคนสำคัญในแนวทางการออกแบบศิลปะเครื่องประดับสไตล์นูโวนั้น ได้แก่ Rene Lalique, Charles Lewis Tiffany และ Fulco di Verdura สามศิลปินผู้มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส ซึ่งมีสไตล์การออกแบบที่แตกต่างกันไปอย่างลงตัว ในแต่ละแนวทางของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น Rene จะไม่จำกัดรูปทรงในการออกแบบ แต่เน้นความ ความกลมกลืนของสี รูปทรง และมิติ โดยเฉพาะรูปทรง 3 มิติ ทั้งยังนิยมเทคนิคการลงยาในวัสดุที่นำมาตกแต่งเป็นพิเศษอีกด้วย ขณะที่ Verdura คือนักออกแบบผู้มีชื่อเสียงของแบรนด์ Coco Chanel ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดในอเมริกา และยุโรป เขาได้ให้ความสำคัญกับรูปทรงในการออกแบบที่เปลี่ยนไปจากเดิม ที่นิยมเพียงดอกไม้ ใบไม้ ไปเป็นรูปผลไม้ มีการนำโบว์มาตกแต่งพันรูปผลไม้ มีการใช้เปลือกหอย และงาช้างในงานออกแบบ ถือเป็นสไตล์การออกแบบที่เน้นความสดใสของสีสันเป็นหลัก ในขณะที่ Charles Lewis Tiffany คือนักออกแบบแบรนด์ Tiffany ผู้โด่งดัง และได้รับความนิยมอย่างมากนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการออกแบบที่เน้นความอ่อนหวานของรูปทรง และสีสันเป็นหลัก เช่น รูปทรงดอกไม้ที่เกาะกลุ่มกันเป็นช่อ หรืออัญมณีที่รวมกลุ่มกันเป็นก้อน โดยจะให้ความสำคัญของสี และรูปทรงของวัสดุที่นำมาใช้ มากกว่าความงามที่แสดงออก หรือพูดง่ายๆ ก็คือ รูปแบบของ Tiffany มีความเป็นนามธรรมค่อนข้างสูงกว่าสไตล์การออกแบบของนักออกแบบท่านอื่นๆ นั่นเอง
ทว่า แม้อาร์ต นูโว จะก่อกำเนิดขึ้นครั้งแรกในอังกฤษ แต่กลับประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดในฝรั่งเศสแทน โดยเฉพาะการเปิดตัวศิลปะเครื่องประดับสไตล์อาร์ต นูโว ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1895 ในงาน La Maison de art Nouveau ณ กรุงปารีส ซึ่งทำให้ศิลปะนูโวเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ตราบกระทั่งถึงทุกวันนี้ รวมถึงได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของงานออกแบบอัญมณีเทียม ที่เฟื่องฟูที่สุดในโลกอีกด้วย…

 

บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ
กรณีต้องการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิง กรุณาติดต่อทีมงานค่ะผ่าน LINE: @LenyaJewelry ค่ะ