นับเป็นเรื่องปกติอย่างมาก สำหรับการมอบของขวัญ และของที่ระลึกให้แก่กันในโอกาสพิเศษ เพื่อสื่อถึงความรู้สึกและความปรารถนาดีจากผู้ให้สู่ผู้รับ ทั้งนี้ เชื่อกันว่าประเพณีการมอบของขวัญนั้นมีมาช้านานแล้ว นับตั้งแต่ยุคอดีต จนถึงปัจจุบัน และจะดำรงคงอยู่ต่อไปในอนาคตกาลอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ตราบเท่ามนุษย์ทุกคนยังคงมีความรัก และความปรารถนาดีให้แก่กันเฉกเช่นที่เคยเป็นมา…
อย่างไรก็ตาม สำหรับการเลือกเครื่องประดับเพื่อเป็น ‘ของขวัญ’ ในเทศกาลเฉลิมฉลองนั้น เริ่มมีขึ้นครั้งแรกในสมัยใดไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ถึงกระนั้นเครื่องประดับก็กลายเป็นสิ่งที่ใช้แทนความหมายมงคล ความสุข การเฉลิมฉลอง และความปรารถนาดีต่อกันมายาวนานนับตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ เมโสโปเตเมีย อนาโตเลีย รวมถึงจักรวรรดิอินเดีย และจีน ในภูมิภาคเอเชียด้วยเช่นกัน
โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบของเครื่องประดับอัญมณีที่งดงามที่สุดในโลก และสตรีอินเดียชั้นสูงก็มีการสวมใส่เครื่องประดับอัญมณีเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย นับตั้งแต่หัวจรดเท้ากันเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นแหวนนิ้วเท้าที่เรียกกันว่า บีชีย่า (bichiya) เครื่องประดับจมูก ที่เรียกกันว่า ภุล (Phul) หรือแม้กระทั่งสร้อยมงคลสูตร (Magalsutra) ที่สตรีอินเดียต้องสวมในพิธีแต่งงานก็ตาม ซึ่งในบรรดาเครื่องประดับทั้งหมดที่ได้รับความนิยมอย่างสูงสำหรับชาวอินเดียก็คือ ทองคำ (85%) เงิน (8%) เพชร(4%) พลอยสีต่างๆ (2%) และไข่มุก (1%) นั่นเอง
ทั้งนี้ นอกจากทองคำที่ถือเป็นเครื่องประดับสูงค่า ที่สตรีอินเดียจะไม่สวมใส่ต่ำกว่าเอวโดยเด็ดขาดแล้ว ยังมี เครื่องประดับอัญมณีสีสันสดสวย เช่น เพชร ทับทิม โกเมน มรกต ไข่มุก และนิล ซึ่งสตรีชาวอินเดียให้ความนิยมสวมใส่เป็นประดับกายจำนวนมาก เนื่องจากถือว่าเป็นอัญมณีมงคลที่นำความผาสุก และความรุ่งเรืองมาสู่ชีวิตของตน นั่นเอง
ตามความเชื่อของชาวอินเดีย เชื่อว่าอัญมณีที่มีสีแดง เช่น ทับทิม และโกเมน ซึ่งจะสื่อความหมายในทางความเจริญรุ่งเรือง แสงสว่าง และความก้าวหน้า อัญมณีสีเขียว เช่น มรกต ซึ่งจะสื่อความหมายในเชิงสติปัญญา ความสดใส ความมีชีวิตชีวา นอกจากนี้อัญมณีสีขาว เช่น เพชร และไข่มุก ซึ่งจะสื่อความหมายในเรื่องราวของความบริสุทธิ์ ความจริงใจ ความปรารถนาที่สมบูรณ์ และความเข้มแข็ง ขณะที่นิล ถือเป็นเครื่องประดับที่จะช่วยปกป้องคุ้มภัยให้กับผู้สวมใส่ ก็ถือเป็นเครื่องประดับอัญมณีที่ได้รับความนิยม นำมาประดับกายด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพราะสำหรับชาวอินเดียแล้ว เครื่องประดับอัญมณีมิใช่แค่เพียงเครื่องตกแต่งกาย แต่ยังหมายถึง เครื่องบ่งบอกฐานะทางสังคมอีกด้วย โดยเฉพาะสตรีอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดู ด้วยเหตุนี้เครื่องประดับจึงถือเป็นของขวัญอันดับต้นๆ ที่ชายชาวอินเดียผู้มีฐานะ นิยมมอบแก่สตรีที่ตนปรารถนา นั่นเอง
แต่สำหรับคนไทยเราแล้ว การเลือกซื้อเครื่องประดับ และเครื่องประดับอัญมณีเพื่อมอบเป็นของขวัญ และของที่ระลึกแด่คนที่รักในเทศกาลต่างๆ นั้น มักจะเน้นรูปลักษณ์ คุณค่า และความหมายของเครื่องประดับชิ้นนั้นๆ เป็นสำคัญ อาทิ การเลือกจี้รูปกระดิ่ง ระฆัง หรือกระพรวน แทนความหมายของชื่อเสียง เกียรติยศ เพื่อมอบเป็นของขวัญของที่ระลึกในเทศกาลสำคัญๆ เช่น คริสมาสต์ วันขึ้นปีใหม่ วันเกิด วันรับปริญญา รวมถึงวันฉลองความสำเร็จนั้น นิยมมอบแด่ผู้ที่อ่อนวัยกว่าเป็นสำคัญ ส่วนการเลือกเข็มกลัด ต่างหู หรือแหวน ที่มีรูปลักษณ์เลขเก้าไทย เลขหนึ่งไทย นิยมใช้มอบเป็นของขวัญแด่ผู้ใหญ่ ผู้ที่เคารพนับถือ หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า เพื่อสื่อความหมายถึง ความเป็นหนึ่ง ความก้าวหน้า ความเจริญในหน้าที่การงานเป็นสำคัญ ขณะที่การเลือกเครื่องประดับ จี้ เข็มกลัด ต่างหูกำไลข้อมือ สร้อยข้อมือ และของตกแต่งบ้านที่เป็นรูปสัตว์มงคล เช่น ปลาตะเพียน ปลามังกร มังกร ช้าง ม้า และเต่า เพื่อมอบเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่ และคริสต์มาส สำหรับผู้ใหญ่นั้น ก็เพื่อสื่อความหมายถึงความยิ่งใหญ่ ความรุ่งเรือง ความมีสุขภาพดี รวมถึงอาจสื่อถึงความมีอายุยืนได้อีกด้วย
แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกซื้อหาของขวัญ และของที่ระลึกแบบไหน สำหรับผู้ใด ในเทศกาลนั้นๆ ก็ตาม สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามและละเลยก็คือ ระยะเวลาที่ผ่านมา และตลอดเวลาที่ผ่านไป…ความรู้สึกปรารถนาดี และความห่วงใยที่มีให้กันอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดด้วยเช่นกัน.
บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ
กรณีต้องการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิง กรุณาติดต่อทีมงานค่ะผ่าน LINE: @LenyaJewelry ค่ะ