การจะซื้อของขวัญให้ใครสักหนึ่งชิ้น นับเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของเราว่า จะสามารถเลือกซื้อของขวัญได้น่าสนใจเพียงใด แล้วเมื่อนำไปมอบให้ผู้รับ ของขวัญชิ้นนี้จะตรงใจ ถูกใจผู้รับมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญคือ ราคาของมันอยู่ใน “งบประมาณที่กำหนด” หรือไม่ ?
หากผู้ที่ต้องการซื้อของขวัญสักชิ้นเป็นเศรษฐีผู้ไม่ยี่หระเรื่องราคาของขวัญไม่ว่าจะหลายหมื่น หรือหลักแสน แม้แต่หลักล้าน เรื่องราคาย่อมไม่ใช่ปัญหา แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว ประเด็นเรื่องราคาของขวัญ มันจะเป็นประเด็นแรกๆ ที่ผู้ซื้อจะต้องคำนึงถึง เพราะใครก็ย่อมอยากจะให้ของขวัญที่ดีที่สุด ภายใต้การจ่ายที่น้อยที่สุด ดังนั้น ความคุ้มค่า และความถูกใจ จึงมักจะเป็นสิ่งที่ต้องชั่งน้ำหนักพิจารณาเป็นประเด็นรองลงมา
สมมติว่า คุณตั้งงบประมาณของขวัญหนึ่งชิ้นไว้ที่ 10,000 บาทถ้วน โดยเป็นแหวนประดับอัญมณีหนึ่งวง ซึ่งคุณตั้งใจจะเอาไปเซอร์ไพรส์แฟนสาวเพื่อขอเธอแต่งงาน เมื่อคุณไปที่ร้านค้า ปรากฏว่า ในงบประมาณที่คุณกำหนดไว้ไม่มีแหวนวงใดถูกใจคุณเลย แม้จะลองเพิ่มงบประมาณไปเป็น 13,000 บาทและ 15,000 บาทแล้วก็ยังไม่มี แต่แล้วเมื่อพิจารณาโดยทั่วๆ ไมได้พิจารณาตามราคา คุณได้พบกับแหวนวงหนึ่งตรงตามที่คุณต้องการทุกอย่าง แต่มันมีราคาสูงถึง 18,000 บาท เกินงบประมาณไป 80%
ถ้าพิจารณาตามกรอบความตั้งใจเดิม คุณอาจจะต้องตัดใจจากมัน แต่ถ้าพิจารณาจากความคุ้มค่าที่จะได้รับ ความพึ่งพอใจของคุณต่อแหวนวงนี้ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อคุณได้มอบมันให้แฟนสาวของคุณ มันก็ถือว่า “คุ้มค่ามาก” ดังนั้น หากให้วางกรอบกว้างๆ ของวิธีการซื้อของขวัญ “ไม่ให้เกินงบประมาณที่กำหนดไว้” ก็อาจเป็นได้ดังนี้ :
1.ความยืดหยุ่นของงบประมาณ ถ้าคุณได้ของขวัญที่ต้องการในราคาต่ำกว่างบประมาณ นั่นย่อมน่ายินดี แต่หากคุณไปพบของขวัญที่ต้องการในราคาที่สูงกว่างบประมาณ แม้จะอยากได้แค่ไหน คุณก็ต้องไม่ลืมว่า คุณมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่จำเป็นด้วย คุณควรจะมี “เพดาน” สำหรับงบประมาณที่คุณจ่ายได้ สมมติว่าเพดานเต็มที่ของคุณคือ 20% ของงบประมาณ ถ้าหากคุณมีงบฯ 10,000 บาท และเจอของขวัญถูกใจราคา 14,500 บาท คุณก็ควรจะตัดใจ หันไปมองชิ้นอื่นดีกว่า เพราะถ้าหากฝืนซื้อไป คุณอาจจะเดือดร้อนในภายหลัง
มีข้อแนะนำเล็กน้อยในเรื่องนี้ คือถ้าหากคุณทำการสำรวจของขวัญที่คุณต้องการซื้อมาระดับหนึ่งแล้ว อาจจะจากเว็บไซต์หรือไปเดินดูตามร้านมาแล้วหนึ่งรอบ คุณจะมองเห็นสเปกคร่าวๆ ของสิ่งที่คุณต้องการซื้อ กับงบประมาณที่คุณจะสามารถจ่ายได้ ถ้างบประมาณคุณจำกัด คุณต้องทำการบ้านเยอะสักหน่อย
2.ความพึงพอใจของผู้ซื้อ สมมติว่าคุณเจอของขวัญที่เกินเพดานไปแล้ว แต่คุณรู้สึกว่า “ถ้าไม่ซื้อต้องเสียใจในภายหลังแน่ๆ” ถ้าเช่นนั้น ก็จงซื้อมันเสียเถิด แต่ถ้าคุณรู้สึกว่า “ไม่ซื้อก็ไม่เป็นไร ไปหาอันอื่นก็ได้” ถ้าเป็นแบบนี้ ก็จงลืมมัน แล้วไปมองหาของขวัญชิ้นอื่นเสีย ในกรณีที่ไม่อาจเอาอะไรมาวัดได้อย่างนี้ “ความรู้สึก” เป็นเข็มทิศเพียงอย่างเดียวที่อาจช่วยนำทางให้คุณได้ ถ้าคุณรู้สึกชอบมันมากๆ แบบว่า “มันใช่เลย!” ต่อให้มันอาจจะทำให้คุณต้องเดือดร้อนไปอีกเป็นเดือน ก็ขอแนะนำให้คุณซื้อมันเสียเถิด แล้วค่อยไปแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในภายหลัง
แต่ถ้าหากคุณยังกังวลกับราคาที่เกินงบประมาณ และยังไม่อาจตัดสินใจซื้อ ขอแนะนำให้ตัดใจและอย่าลังเลที่จะเดินจากไปหาของขวัญชิ้นอื่นที่คุณอาจจะชอบมากกว่า และจ่ายได้อย่างสบายใจกว่า อย่าลืมว่า ถึงอย่างไรเสีย ของขวัญก็ไม่ได้มีชิ้นเดียวในโลก
3.ความพึงพอใจของผู้รับ เป้าหมายของการซื้อของขวัญก็เพื่อนำไปมอบให้คนที่คุณต้องการ หากเขาชอบคุณก็มีความสุข หากเขาชอบมากคุณก็สุขมาก และหากเขาปลืมปิติยินดี คุณก็จะยิ่งปิติยินดีเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ดังนั้น ความพึงพอใจของผู้รับจึงเป็นปัจจัยที่สามในการพิจารณาในกรณีที่คุณยังตัดสินใจไม่ได้ สมมติว่า หลังจากคุณตระเวนเลือกแล้ว คุณได้ตัวเลือกมา 2 ชิ้น ชิ้นแรกอยู่ในงบประมาณ คุณเองก็พอใจ แต่คุณไม่ค่อยแน่ใจว่าผู้รับจะพอใจหรือเปล่า เพราะมันดูธรรมดาเกินไป ส่วนอีกชิ้นหนึ่ง เกินงบประมาณไปมาก คุณเองยอมรับว่ามันเป็นของขวัญที่สวยจริงๆ และมั่นใจว่าผู้รับต้องชอบมากๆ ด้วย แต่คุณไม่ค่อยชอบมันเท่าไรเพราะมันค่อนข้างแพง
ถามว่า คุณจะเลือกของขวัญชิ้นที่ “คุณพอใจ” หรือ “ผู้รับพอใจ” ? คำตอบนี้คงจะมีเพียงผู้ซื้อเท่านั้นที่ตอบได้ เพราะบางที เมื่อมองจากมุมมองของอีกฝ่าย ผู้รับอาจจะพอใจทุกอย่างที่เรามอบให้ก็ได้ เพราะเขาไม่ทราบว่าเราซื้อมาเท่าไร
โดยสรุป หากเราต้องการเลือกของขวัญให้ได้ตามงบประมาณและผู้ซื้อก็พอใจด้วย เราคงต้องทำการบ้านอย่างหนักสักหน่อย หากเราทำการบ้านไม่มากพอ คงต้องเผื่อใจไว้สำหรับของขวัญที่เกินงบประมาณ
อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า “ของขวัญ” นั้นเป็นสิ่งแทนใจก็จริง แต่ “ใจ”จริงๆ นั้นมันอยู่ที่ตัวเรา
บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ
กรณีต้องการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิง กรุณาติดต่อทีมงานค่ะผ่าน LINE: @LenyaJewelry ค่ะ