“ญาติผู้ใหญ่” หมายถึงบุคคลในครอบครัว และ/หรือ บุคคลที่เกี่ยวพันกันทางสายเลือดหรือจากการเกี่ยวดองโดยการแต่งงาน ซึ่งเราให้ความเคารพนับถือ ญาติผู้ใหญ่ จึงอาจหมายถึง ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา หรือ พี่สาวคนโตของสามี อาสะใภ้ของภรรยา ฯลฯ
การปฏิบัติตนต่อญาติผู้ใหญ่ หมายถึง การแสดงออกทางพฤติกรรม ซึ่งคนที่อ่อนวัยกว่ามีต่อญาติผู้ใหญ่ด้วยความเคารพนับถือ โดยแสดงผ่านความสุภาพ การมีมารยาทที่ดีและมีสัมมาคารวะ เช่น การไหว้ การกล่าวทักทาย การก้มตัวขณะเดินผ่านหน้าผู้ใหญ่ การต้อนรับและพฤติกรรมต่างๆ ที่เป็นการแสดงออกถึงการให้ความเคารพและให้เกียรติผู้ที่มีความอาวุโสกว่า ซึ่งความสุภาพนั้นหมายถึง การอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ก้าวร้าว แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีความมั่นใจในตนเองด้วย
“การให้ของขวัญญาติผู้ใหญ่” ในวาระต่างๆ เช่น ปีใหม่ ฉลองเลื่อนตำแหน่ง ร่วมอวยพรเนื่องในโอกาสเกษียณ ก็นับเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในสังคมไทย ที่เราจะได้มอบของขวัญให้กับญาติผู้ใหญ่ที่เราเคารพ เพื่อแสดงความยินดี แสดงความระลึกในพระคุณที่ท่านได้ช่วยดูแล สนับสนุน หรือช่วยเหลือเราตลอดมา
การมอบของขวัญให้ผู้ใหญ่ ไม่เหมือนการมอบของขวัญให้แก่เพื่อนฝูง คนรัก หรือเด็กๆ เพราะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมหลายๆ อย่าง เพราะการมอบของขวัญให้ผู้ใหญ่ไม่ใช่อะไรก็ได้ แต่ต้องจำเพาะเจาะจงพอสมควร ซึ่งนับเป็นเงื่อนไขที่ยาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราต้องการมอบสิ่งของมีค่าคือ “เครื่องประดับ”ให้แก่ญาติผู้ใหญ่ ยิ่งเป็นโจทย์ที่จะต้องใช้ความคิดมากขึ้น
หลักการโดยทั่วไปสำหรับการเลือกเครื่องประดับให้ผู้ใหญ่มีข้อแนะนำอยู่ว่า อันดับแรก ต้องรับทราบความสนใจของผู้รับก่อนว่าชอบและไม่ชอบอะไร ผู้ใหญ่บางท่านอาจชอบเครื่องประดับพวกทองเป็นพิเศษ บางท่านก็ชอบพลอยเนื้ออ่อน บางท่านก็ชอบหยก หรือบางท่านก็ชอบเครื่องประดับที่มีดีไซน์ เราอาจสังเกตจากเครื่องประดับที่ท่านนิยมใส่หรือใช้อยู่ก็ได้ หรือ หากเราไม่รู้จริงๆ หรือไม่แน่ใจ เราอาจปรึกษาผู้ใกล้ชิดผู้ใหญ่ท่านนั้น
ข้อสอง อย่าเสี่ยงที่จะเลือกโดยเอารสนิยมของเราเป็นตัวตั้ง หรือคิดเอาเองว่า “ท่านน่าจะชอบ” เพราะความชอบเป็นเรื่องเฉพาะตัว โดยเฉพาะผู้ใหญ่ มักจะมีความเฉพาะตัวสูง ถ้าแตกต่างออกไป ท่านก็อาจไม่ชอบเลย ขอย้ำอีกครั้งว่า อย่าเสี่ยงที่จะคิดเอาเอง เพราะโอกาสผิดพลาดเป็นไปได้สูง ยกเว้นว่า เราจะรู้ใจท่านจริงๆ เท่านั้น
ข้อสาม เมื่อได้ขอบข่ายของเครื่องประดับที่ท่าน “น่าจะชอบ”แล้ว ก็ควรเลือกในระดับราคาที่เหมาะสม ตามงบประมาณที่ตั้งไว้ อย่าลืมว่า ญาติผู้ใหญ่ของเรา ท่านไม่ได้ต้องการของขวัญราคาแพงลิบลิ่ว เพียงแต่คุณมอบของขวัญให้ด้วยความเคารพรัก ท่านก็ยินดีมากแล้ว และไม่ว่าคุณจะซื้อมันมาด้วยราคาเท่าใด ก็ไม่ควรจะบอกราคาให้ท่านได้ทราบ
ข้อสี่ “บรรจุภัณฑ์” หรือหีบห่อ มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าของขวัญ ยิ่งมีการห่อที่ดูดีก็ยิ่งเพิ่มมูลค่าให้เครื่องประดับ ทำให้ดูโดดเด่นยิ่งกว่าของขวัญอื่นๆ ในงาน (ถ้าหากมีผู้อื่นมอบของขวัญให้ท่านหลายกล่อง) แต่ถ้าห่อไม่เรียบร้อยก็จะดูเหมือนไม่เต็มใจให้ กลายเป็นการลดคุณค่าของเครื่องประดับลงไปอีก
ข้อสุดท้าย เมื่อคุณได้ตั้งใจเลือกเครื่องประดับขนาดนี้แล้ว คุณก็ควรจะนำมันไปมอบให้กับญาติผู้ใหญ่ที่คุณเคารพด้วยตัวเอง อย่าฝากคนอื่นไป เพราะการนำของขวัญไปมอบให้ด้วยตนเอง เป็นการแสดงถึงความจริงใจที่คุณมีต่อผู้รับ แต่สำหรับเครื่องประดับจะแตกต่างจากของขวัญชิ้นอื่นๆ อยู่บ้าง ตรงที่ เมื่อคุณมอบให้ญาติผู้ใหญ่แล้ว แทนที่จะปล่อยให้ท่านนำไปวางรวมในกองของขวัญที่คนอื่นๆ มอบให้ท่าน คุณควรจะขอร้องให้ท่านเปิดออกดูทันที เพื่อให้ท่านได้เห็นว่า คุณได้มอบของมีค่านี้ แทนความรักและความเคารพที่คุณมีต่อท่าน
“เครื่องประดับ” นับเป็นของขวัญที่มีคุณค่าและราคาสูง การตัดสินใจมอบเครื่องประดับให้แก่ญาติผู้ใหญ่ย่อมแสดงให้เห็นว่า เราให้ความรักและเคารพท่านมากจริงๆ แม้ว่าท่านอาจจะรู้สึกลำบากใจเล็กน้อยในตอนรับ แต่เชื่อได้เลยว่า ท่านย่อมยินดีและภาคภูมิใจในของขวัญที่คุณมอบให้อย่างมากมายแน่นอน
บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ
กรณีต้องการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิง กรุณาติดต่อทีมงานค่ะผ่าน LINE: @LenyaJewelry ค่ะ