อัญมณีในโลกนี้มีนับสิบนับร้อยประเภท แยกย่อยออกไปมากมายหลายอย่าง ทั้งแหล่งกำเนิด ทั้งส่วนประกอบแร่ธาตุ มีความแตกต่างทั้งในความหายาก ทั้งการนำไปทำเครื่องประดับ ความนิยมและราคาในท้องตลาด แต่ไม่ว่าจะเป็นอัญมณีชนิดใด ก็ต้องถูกวัดด้วยค่าทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า “ค่าความแข็ง” (Hardness)
“ค่าความแข็ง”นี้ หมายถึง ค่าความทนทานต่อการขีดข่วนให้เป็นรอย ซึ่งการวัดค่าจะใช้มาตรฐานของ Mohs หรือที่เรียกว่า Mohs ‘s scale ยกตัวอย่างเช่น เพชร มีค่า Mohs ‘ scale เท่ากับ 10 ,คอรันดัม 9,โทพาส 8,ควอทซ์ 7,ฟลูออไรท์ 4 และยิปซัม 2 เป็นต้น
สำหรับ “พลอย” เป็นอัญมณีที่มีหลากหลายชนิด แบ่งออกได้เป็น 2 ตระกูล หนึ่งคือตระกูลคอรันดัม เช่น ทับทิม บุษราคัม ไพลิน และสอง ตระกูลควอทซ์ เช่น อเมทริส ซิทริน อาเกต
ส่วนคำว่า“พลอยเนื้ออ่อน” เป็นคำที่ใช้เรียกพลอยที่มีค่าความแข็งน้อยกว่า 9 ส่วนคำว่า “พลอยเนื้อแข็ง” ก็คือพลอยที่มีค่าความแข็ง ตั้งแต่ 9 ขึ้นไป แต่ค่าความแข็งนั้น ไม่ได้เป็นตัวแปรโดยตรงต่อความนิยมหรือราคาของพลอยแต่อย่างใด พลอยเนื้ออ่อนหลายชนิดเป็นที่นิยม และมีราคาสูง เช่น มรกต และโอปอลดำ
ทั้งพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนต่างก็มีความงามแตกต่างกันไป ไม่สามารถเอามาเปรียบเทียบกันได้ แต่หลายคนที่ไม่เข้าใจก็มักจะคิดว่า พลอยเนื้ออ่อนเป็นพลอยไม่มีคุณภาพ ไม่เหมาะที่จะเอามาทำเป็นเครื่องประดับ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด ไม่มีพลอยชนิดใดที่ไม่มีค่า ในคำภาษาอังกฤษใช้คำว่า Precious Stone หมายถึง พลอยที่มีค่าสูง และ Semi-Precious Stone หมายถึงพลอยที่มีค่ารองลงมาซึ่งวัดจากความนิยมของผู้ซื้ออัญมณีเป็นหลัก ไม่ได้วัดจากราคาและค่าความแข็งของพลอย
ในตลาดอัญมณี พลอยทุกชนิดทั้งเนื้อแข็งและเนื้ออ่อน ล้วนเป็นที่นิยมของผู้บริโภค แต่ราคาก็ย่อมจะแตกต่างกันไปตามตัวแปรต่างๆ มากมาย ทั้งการได้มา จำนวนที่มี ความสวยงาม ความต้องการของผู้ซื้อ ฯลฯ
สิ่งที่ผู้ซื้อและผู้สนใจในอัญมณีควรทราบ คือเมื่อพลอยเนื้ออ่อนมีค่าความแข็งน้อยกว่าพลอยเนื้อแข็ง ดังนั้น โอกาสถูกขีดข่วน แตก หรือชำรุดจึงง่ายกว่า การสวมใส่จึงควรระมัดระวัง นอกจากนั้น พลอยเนื้ออ่อนบางชนิดเกิดจากการเผา การให้ความร้อน หรือการฉายรังสี ผู้สวมใส่จึงควรหลีกเลี่ยงอัญมณีจากความร้อนหรือรังสี ซึ่งอาจทำให้สีของพลอยเพี้ยนไป หรือเกิดความเสียหายได้
ในการใช้ชีวิตประจำวันของเรา อาจมีกิจกรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการกระทบกระแทกหรือสารเคมี ซึ่งทำให้พลอยได้รับความเสียหาย ดังนั้น ในการสวมใส่แต่ละครั้ง จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงรูปแบบกิจกรรมและการใช้ชีวิตด้วย
หลายคนอาจไม่ทราบว่า สารเคมีเพื่อความงามบางอย่างเช่น แฮร์สเปรย์และน้ำหอม รวมทั้งเหงื่อของตัวเราเอง มีส่วนทำให้เครื่องประดับหมองลงได้ หลังจากการสวมใส่อัญมณีที่ประดับด้วยพลอยเนื้ออ่อนแล้ว จึงควรเช็ดเครื่องประดับให้สะอาดด้วยผ้าสะอาดนุ่มเป็นประจำทุกครั้ง
นอกจากนี้ การใส่เครื่องประดับพลอยเนื้ออ่อนไปยังที่มีอุณหภูมิสูงเช่น ห้องอบไอน้ำ หรือลงเล่นน้ำในสระว่ายน้ำซึ่งมีสารคลอรีน หรือลงเล่นในทะเลซึ่งมีค่าความเค็มสูงกว่าปกติ ซึ่งจะส่งผลต่อตัวพลอยได้โดยตรง
หากมีสิ่งสกปรกหรือฝุ่นเกาะ ควรทำความสะอาดพลอยเนื้ออ่อนด้วยน้ำสบู่ หรือ น้ำยาล้างอัญมณีโดยเฉพาะแล้วแปรงด้วยแปรงขนนุ่ม จากนั้นจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด และเช็ดให้แห้ง ส่วนการเก็บรักษานั้น ควรเก็บแยกจากกันไม่เก็บรวมกัน เพราะโอกาสที่อัญมณีจะกระทบขีดข่วนเป็นริ้วรอยขึ้นจะเกิดได้ง่าย
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจมองว่า พลอยเนื้ออ่อนนั้นดูแลยาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากเราเข้าใจธรรมชาติของพลอยเนื้ออ่อน และระมัดระวังอย่างเพียงพอ เราก็สามารถที่จะสวมใส่เครื่องประดับที่เป็นพลอยเนื้ออ่อนได้อย่างมั่นใจ
บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ
กรณีต้องการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิง กรุณาติดต่อทีมงานค่ะผ่าน LINE: @LenyaJewelry ค่ะ