มีคำกล่าวที่ว่า “การเดินทางของความรักไม่มีวันสิ้นสุด” ซึ่งหมายความว่า เมื่อได้รู้จักรักแล้ว คนเราก็จะเรียนรู้ พัฒนาตนเองและพัฒนาความรักของตนเองพร้อมกับคนรักไปเรื่อยๆ จากการคบหากันเป็นแฟน ไปจนถึงการแต่งงาน แม้จะมีลูกด้วยกันหลายคนแล้ว แต่ความรักก็ยังไม่สิ้นสุด ความรักยังคงเดินทางต่อไปเรื่อยๆ บางครั้งอาจพลาดหวัง อาจเสียใจ ถึงขนาดปฏิเสธที่จะมีรัก แต่ความรักไม่มีวันจบลง
ระหว่างการเดินทางอันยาวนานของความรักนั้น มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้น มีประสบการณ์ทั้งดี ทั้งไม่ดี ที่น่าจำก็มี ที่ไม่อยากคิดถึงก็ไม่น้อย ของขวัญ ภาพถ่าย สิ่งของที่เคยมอบให้กัน ล้วนทำให้รำลึกถึงอดีต แต่ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของชิ้นใด ก็ไม่อาจมีคุณค่าทางใจเทียบเท่ากับ “แหวนแต่งงาน” ได้
เพราะ “การแต่งงาน” คือพิธีกรรมสำคัญของสังคมมนุษย์ การที่มนุษย์คู่หนึ่งจะเปลี่ยนผ่านสถานภาพไปสู่ชีวิตคู่ ไปสู่การสร้างครอบครัวซึ่งถือเป็นหน่วยย่อยที่สุดของสังคม เป็นการยอมรับในวุฒิภาวะความเป็นผู้ใหญ่ของคนทั้งคู่ ในช่วงชีวิตของคนเรา จะมีงานสำคัญๆ อยู่เพียงไม่กี่อย่าง “การแต่งงาน” นับเป็นงานสำคัญยิ่ง แน่นอนว่า ไม่ใช่ใครก็สามารถจะเข้าสู่พิธีแต่งงานกันได้ง่ายๆ การแต่งงานเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธืโดยตัวของมันเอง แม้ว่าจะไม่ต้องมีขั้นตอนซับซ้อนมากมาย แต่การประกาศให้สังคมรับรู้ว่า คนสองคนจะใช้ชีวิตร่วมกัน ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจล้อเล่น และเครื่องหมายของผู้ผ่านพิธีแต่งงานที่สำคัญที่สุดก็ย่อมต้องเป็น “แหวนแต่งงาน” นี่เอง
แหวนแต่งงานเป็นสัญลักษณ์ของพิธีแต่งงาน มีความสำคัญ ทั้งในฐานะเครื่องเตือนความทรงจำ และพันธะสัญญาที่คนทั้งสองได้มอบให้แก่กัน จึงกล่าวได้ว่า“แหวนแต่งงาน” คือเครื่องประดับที่มีคุณค่าสูงยิ่งต่อจิตใจของคนเรา
ที่มาของแหวนแต่งงาน มีเรื่องเล่าที่สืบย้อนไปไกลถึงสมัยตำนานกรีก โดย “โพรเมธีอุส” เทพผู้นำไฟมามอบให้มนุษย์ เป็นผู้สร้างแหวนแต่งงานขึ้นจากเหล็ก มอบให้แก่มนุษย์ซึ่งยังไม่รู้จักความรัก ได้มีความรัก และมีคู่ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานในอารยธรรมอียิปต์ ว่ามีการใช้แหวนแต่งงานที่ทำจากหนัง หรือจากเส้นหวายสำหรับคู่แต่งงานที่เป็นสามัญชน ส่วนชนชั้นสูงจะใช้แหวนแต่งงานที่ทำจากโลหะมีค่า ซึ่งในเวลาต่อมา แหวนแต่งงานได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งพันธสัญญาของคู่แต่งงาน กลายเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยไม่จำเพาะเจาะจงว่าต้องนับถือศาสนาคริสต์เท่านั้น
แหวนแต่งงานที่ได้รับความนิยม มักจะทำจากทอง ทองคำขาว หรือแพลตตินั่ม อาจเป็นแหวนเรียบๆ ไม่มีลวดลายและการประดับใด หรืออาจจะประดับด้วยอัญมณี ซึ่งเพชรจะเป็นอัญมณีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ในสังคมตะวันตก ซึ่งพิธีแต่งงานมักจะเรียบง่ายกว่าสังคมไทย การแลกแหวนแต่งงานถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เสมือนการสร้างพันธะสัญญาระหว่างบ่าวสาวขึ้น
สำหรับสังคมไทย ซึ่งรับรูปแบบและพิธีกรรมในการแต่งงานบางส่วนมาจากสังคมตะวันตก ก็นำมันมาผสาน ประยุกต์เข้ากับประเพณีไทย จากเดิมที่เจ้าบ่าวจะมอบแหวนแต่งงานให้กับเจ้าสาวเท่านั้น บางคู่ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นเจ้าบ่าวและเจ้าสาวมีการแลกแหวนแต่งงานกัน ซึ่งจะทำให้สองฝ่ายมีสัญลักษณ์แห่งพันธสัญญานี้เก็บไว้ (แต่เนื่องจากผู้ใหญ่ของแต่ละฝ่ายอาจจะไม่คุ้นชินกับธรรมเนียมปฏิบัตินี้ จึงอาจจะต้องอธิบายขยายความกันบ้าง)
การเลือกซื้อแหวนแต่งงานในปัจจุบัน มักจะนิยมใช้บริการของร้านค้าอัญมณีหรือร้านจิวเวลลี่ ที่จำหน่ายสินค้าด้านนี้โดยเฉพาะ มีทั้งร้านทั่วไปและร้านที่เป็นแบรนด์เนมมีชื่อเสียง และสินค้ามีราคาค่อนข้างสูง นอกจากนี้ คู่บ่าวสาวจำนวนมากยังนิยมไปซื้อแหวนจากร้านทอง แต่ไม่ว่าจะซื้อจากทีไหน สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ เครดิตหรือความน่าเชื่อถือของร้าน การรับประกัน รวมทั้งการดูแลหลังการขาย ไม่ใช่เพียงแค่ขายแล้วจบกันไป แต่หมายถึงความพร้อมในการให้คำปรึกษาในการดูแลรักษาแหวนแต่งงานของเรา ตลอดจนรับทำความสะอาดหรือซ่อมบำรุงประจำปี ในกรณีที่กาวที่ใช้ติดอัญมณีเริ่มเสื่อมสภาพ และอาจทำให้อัญมณีหลุดจากตัวแหวนได้
ในสมัยก่อน แหวนแต่งงานถือเป็นหนึ่งในสิดสอดทองหมั้นที่ฝ่ายเจ้าบ่าวต้องเป็นฝ่ายจัดหามา ฝ่ายหญิงจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แต่ด้วยบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทุกวันนี้เวลาเลือกแหวนแต่งงาน จึงเป็นหน้าที่ของทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ซึ่งแน่นอนว่า เจ้าสาวมักจะมีบทบาทในการเลือกมากกว่า แต่การเริ่มต้นของชีวิตคู่ก็มักจะเป็นเช่นนี้ คือฝ่ายหญิงเป็นผู้ปฏิบัติ ส่วนฝ่ายชายเป็นผู้สนับสนุน
หลายปีหลังจากการแต่งงาน ลองหยิบแหวนแต่งงานมาพิจารณาอีกครั้ง คุณจะเห็น “ความทรงจำ”มากมายในนั้น
บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ
กรณีต้องการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิง กรุณาติดต่อทีมงานค่ะผ่าน LINE: @LenyaJewelry ค่ะ