หากมีคำถามว่า อัญมณีที่มีค่ามากที่สุดในโลก ทั้งยังเป็นวัตถุที่มีความแข็งมากที่สุดในโลก คืออัญมณีชนิดใด ? คำตอบย่อมมีเพียงหนึ่งเดียวนั่นคือ “เพชร” เพราะเพชรเป็นอัญมณีที่ทั่วทั้งโลกยอมรับในความเป็นหนึ่งทั้งด้าน “คุณค่า” และ “ความแข็งแกร่ง”ของมัน เพราะแม้ว่าเพชรที่เจียรไนแล้วบางเม็ดจะมีขนาดเล็กเท่าเมล็ดข้าวโพด แต่มันอาจมีราคาสูงถึงหลายหมื่นบาทหรือแสนบาทเลยทีเดียว

เพชรเกิดขึ้นจากหินหลอมเหลวหรือแมกมา (Magma) ที่เปลี่ยนจากธาตุคาร์บอนกลายเป็นผลึกคาร์บอนซึ่งต้องใช้เวลาหลายพันปีภายใต้พื้นผิวโลกในระดับความลึกถึง 150-250 กิโลเมตร ภายใต้ความดันและอุณหภูมิประมาณสองพันองศาเซลเซียส เมื่อเพชรเย็นตัวลงในหินคิมเบอไลต์ (Kimberlite) ก็จะถูกแมกมาอีกส่วนดันขึ้นสู่ผิวโลก จากนั้นจะถูกพ่นออกมากับแมกมาแล้วเย็นตัว ก่อนจะถูกกัดกร่อนตามสภาพธรรมชาติเป็นเวลานานนับพันปี ทำให้เพชรหลุดออกจากหินคิมเบอร์ไลต์ ถูกกระแสน้ำชำระล้างและพัดพาไปตามกระแสน้ำ

เพชรได้ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกที่ประเทศอินเดียในสมัยอารยธรรมแห่งหุบเขาอินดัส (Indus Valley Civilization)ในช่วง 1,700-2,500 ปีก่อนคริสตกาล เชื่อว่าผู้ที่ค้นพบน่าจะเป็นพวกทมิฬหรือดราวิเดียน ซึ่งค้นพบเพชรปะปนอยู่กับก้อนกรวดในก้นแม่น้ำเพนเนอร์ แม่น้ำกฤษณะ และแม่น้ำโคธาวารี ซึ่งเพชรเหล่านี้น่าจะมาจากภูเขาไฟระเบิด และถูกน้ำพัดพาไปรวมกับหิน กรวด ทรายที่ก้นแม่น้ำ

ในเวลาต่อมา ชาวอินเดียได้เริ่มการค้นหาเพชรอย่างจริงจังและได้เริ่มต้นทำเหมืองเพชรเมื่อประมาณ 800 ปีก่อนคริสตกาล เพชรได้ถูกนำไปใช้ประกอบกับรูปเคารพของเทพเจ้าในศาสนาฮินดู ใช้เป็นเครื่องหมายของความสูงส่ง รวมทั้งยังมีการใช้เพชรเป็นเครื่องมือแกะสลัก ซึ่งในสมัยนั้นได้มีการชั่งน้ำหนักเพชรและกำหนดค่าโดยเปรียบเทียบกับเม็ดของต้นการอบ(Carob Tree) ซึ่งได้กลายมาเป็นค่าในการวัดที่เรียกว่า “กะรัต” (Carat) จนถึงปัจจุบัน โดย 1 กะรัตมีค่าเท่ากับ 0.2 กรัม

เมื่อหลายศตวรรษก่อน อินเดียเป็นแห่งเดียวในโลกที่มีการผลิตเพชร จนกระทั่งในปี 1725 ได้มีการค้นพบแหล่งเพชรที่บราซิล และในอีกศตวรรษต่อมาก็พบแหล่งเพชรในแอฟริกาใต้ เมื่อมนุษย์มีเทคโนโลยีในการค้นหาก้าวหน้าขึ้น ก็มีการค้นพบแหล่งเพชรมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในปัจจุบันมี 21 ประเทศที่มีเหมืองเพชร โดยส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกา นอกจากนี้ยังมีการค้นพบแหล่งเพชรที่จีน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย อเมริกาใต้ รัสเซีย และแคนาดา

ส่วนในประเทศไทย ก็มีการค้นพบเพชรมานานกว่า 40 ปีแล้ว โดยเป็นการพบร่วมกับแร่ดีบุกในลานแร่ จังหวัดภูเก็ต และพังงา ทั้งในแหล่งแร่ดีบุกบนบก และนอกชายฝั่งทะเลอันดามัน ด้านตะวันตกของอำเภอตะกั่วป่า ไปจนถึงทางใต้ เรื่อยไปจนถึงจังหวัดภูเก็ต เพชรที่พบในไทยส่วนใหญ่มีขนาด 1.8-4.7 มิลลิเมตร (0.04-0.89 กะรัต) แต่เคยมีรายงานว่าพบเพชรใหญ่ขนาดประมาณ 6 กะรัต จากบริเวณอำเภอกะปง จังหวัดพังงา เพชรบางส่วนสามารถนำมาเจียระไน ทำเครื่องประดับได้ ซึ่งต้นกำเนิดเพชรในไทยยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจมาจากหินโคลนปนกรวด (Pebbly Mudstone) ซึ่งแตกต่างจากแหล่งเพชรอื่นๆ ที่พบในหินแคมเบอร์ไลต์

ความแข็งของเพชรตามสเกลของโมส์ (Moh's scale) มีค่าเท่ากับ 10 ซึ่งแข็งกว่าทับทิมซึ่งเป็นอัญมณีที่มีค่าเป็นอันดับสองรองจากเพชรถึง 140 เท่า คำว่า “เพชร” ในภาษาสันกฤตเรียกว่า “วัชร” ส่วนในภาอังกฤษ diamond มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณคือ adamas ที่แปลว่า ความสมบูรณ์ ความแข็งแกร่ง ความกล้าหาญ ต่อมาได้แผลงเป็น adanmant ,diamante และ diamond ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

เนื่องจากเป็นอัญมณีอันดับหนึ่งของโลก “เพชร”จึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามหาศาล มีกระบวนการมากมายนับตั้งแต่การขุด การคัดเลือก การเจียรนัย การนำไปประกอบกับเครื่องประดับหรือวัตถุอื่นๆ ตลอดจนการตลาดที่มีมูลค่าของทั่วโลกรวมกันนับล้านล้านบาท ซึ่งเพชรนั้นไม่ได้มีเพียงสีขาวบริสุทธิ์แบบเดียวตามที่เรารู้จัก แต่เพชรยังมีหลายขนาด หลายสีเช่น แดง ฟ้า เขียว ส้ม ชมพู

สำหรับคนทั่วไป การใช้เพชรเพื่อเป็นแหวนหมั้น หรือแหวนแต่งงานนับเป็นคุณค่าอันสูงสุดที่ได้รับการยกย่องและยอมรับ ซึ่งในปัจจุบันมีการทำแหวนเพชรออกมาหลายเกรด หลายราคา ให้สามารถเลือกได้ตามความพอใจและความพร้อมในการจ่าย จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่แหวนเพชรจะเป็นอัญมณียอดนิยมหากชายหนุ่มคิดจะขอใครสักคนแต่งงาน เพราะ“ประกายแห่งเพชร” จากแหวนเพชรหนึ่งวง มีพลังมหัศจรรย์เกินกว่าใครจะปฏิเสธได้

บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ
กรณีต้องการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิง กรุณาติดต่อทีมงานค่ะผ่าน LINE: @LenyaJewelry ค่ะ