“อัญมณี”ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพชร พลอย มรกต ไพลิน ล้วนมีความเป็นมาที่เกี่ยวพันกับอารยธรรม และวัฒนธรรมของมนุษย์มาอย่างเนิ่นนาน นอกจากความเป็นวัตถุมีค่าแล้ว อัญมณีแต่ละชนิดยังเกี่ยวพันกับเรื่องความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ เนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า อัญมณีแต่ละชนิด เป็นสมบัติอันล้ำค่าของโลก เป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง และมีอำนาจพิเศษซ่อนเร้นอยู่

ความเชื่อของแต่ละชนชาติ แต่ละวัฒนธรรมนั้น มักมีความเชื่อมโยงกับเรื่องเล่าหรือตำนานนับตั้งแต่สมัยบูชาเทพเจ้า ดังเช่น ในตำนานเกี่ยวกับเทพเจ้าของชาวฮินดู มีการกล่าวถึงอัญมณีมีค่า 9 ชนิดคือ เพชร ทับทิม มรกต เพทาย บุษราคัม นิล มุกดา โกเมน และไพฑูรย์ ซึ่งเรียกรวมว่า “นพรัตน์” ว่ามีการกำเนิด หรือความเป็นมาดังนี้

ครั้งหนึ่งทวยเทพ ดาบส และนักสิทธิ์(ผู้วิเศษประเภทหนึ่ง) พากันไปเฝ้าพระอิศวร ทูลถามถึงที่เกิดแห่งนพรัตน์ ว่ามีกำเนิดเป็นมาอย่างไร พระอิศวรแนะนำให้ทวยเทพทั้งหลายไปถาม “พระฤๅษีองคต” ซึ่งเป็นผู้ที่มีอายุยืนยาวมาแต่ครั้งกฤติยุค(ช่วงแรกสุดในสี่ช่วงของเวลาหนึ่งกัลป์) พระฤๅษีองคต ได้เล่าว่า ในกาลก่อนบรรดาทวยเทพทั้งหลายประสงค์จะให้เกิดมีอัญมณีมีค่า หรือแก้ว 9 ประการ จึงขอให้มเหสักข์องค์หนึ่งนามว่า “พลอสูร” หรือ “มหาพลาสูร” สร้างนพรัตน์ขึ้นเพื่อไว้เป็นมงคลแห่งโลก ท้าวพลอสูรจึงบำเพ็ญตบะอดอาหาร จนกระทั่งครบ 7 วัน ก็ถึงแก่ความตาย ทวยเทพจึงตั้งพิธีบูชาตามที่ท้าวพลอสูรสั่งไว้ เมื่อเวลาผ่านไปอีก 7 วัน อวัยวะส่วนต่างๆ จากร่างของท้าวพลอสูรก็แปรสภาพเป็นแก้ว 9 ชนิด เช่น หัวใจกลายเป็นเพชร นัยน์ตาข้างขวาเกิดเป็นแก้วไพฑูรย์ นัยน์ตาข้างซ้ายเกิดเป็นแก้วโกเมน ฟันเป็นแก้วมุกดา เนื้อกลายเป็นบุษราคัม ฯลฯ ทวยเทพทั้งหลายจึงนำรัตนชาติดังกล่าวแยกย้ายไปไว้ตามที่ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดมงคล (http://emuseum.treasury.go.th)

ในวัฒนธรรมจีนก็มีการให้คุณค่ากับ “หยก”สูงยิ่งกว่าอัญมณีชนิดอื่น โดยมีความเชื่อว่าหยกเป็นสัญลักษณ์แห่งคุณธรรม 5 ประการ คือ ใจบุญ สมถะ กล้าหาญ ยุติธรรม และมีสติปัญญา ชาวจีนเชื่อว่าหยกเป็นอัญมณีศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาซึ่งสิริมงคล ความเจริญรุ่งเรือง ความร่ำรวย ความมีโชคแก่ผู้ครอบครองและทำให้อายุยืนด้วย ดังนั้นชาวจีนในสมัยก่อนไม่ว่าจะเป็นชนชั้นใดจึงนิยมใช้หยกเป็นทั้งเครื่องประดับ และของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น พระจักรพรรดิใช้หยกเป็นตราพระราชลัญจกร พระธำมรงค์ ชาวจีนทั่วไปมักจะให้ลูกหลานของตนพกหยกติดตัวไว้เสมอ ถ้าเป็นเด็กหญิงจะสวมกำไลหยก แต่ถ้าเป็นเด็กชายก็จะพกเครื่องใช้ที่ทำด้วยหยกหรือจี้พระหยก เมื่อเสียชีวิตหยกก็จะถูกฝังลงไปพร้อมกับศพ เนื่องจากเชื่อกันว่าหยกสามารถรักษาศพไม่ให้เน่าเปื่อยได้ (http://general.sgs.ac.th)

ความเชื่อที่เกี่ยวกับอัญมณีมีอยู่ในทุกวัฒนธรรม เกี่ยวพันกับชีวิตและสังคมมนุษย์ในด้านต่างๆ มากมาย กระทั่งในปัจจุบันเอง ที่ความเชื่อในเรื่องพลังอำนาจของอัญมณีอาจจะไม่มากดังเช่นในอดีต แต่ก็มีเรื่องเล่ามากมายที่แสดงให้เห็นว่า อัญมณีอาจเกี่ยวข้องกับสิ่งที่อธิบายไม่ได้มากมายหลายอย่าง อาทิ คนที่สวมอัญมณีที่เรียกว่า “แก้วขนเหล็ก” จะไม่พบเจอกับเหตุการณ์ที่น่ากลัว หรือมักจะแคล้วคลาดจากภัยอันตราย หรือ คนทีสวมใส่อัญมณีตามราศีเกิดของตน มักจะประสบโชคดีที่คาดไม่ถึงบ่อยครั้ง แต่ขณะเดียวกัน บางคนก็อาจไม่เคยพบเจออะไรเลยแม้จะสวมใส่อัญมณีอยู่ทุกวัน

มีคำกล่าวที่ว่า “ความเชื่อของเรานั่นเองที่จะโน้มนำให้เกิดอำนาจเหนือธรรมชาติ” ซึ่งหมายความว่า คนที่เชื่อก็สามารถที่จะสัมผัสกับพลังอำนาจบางอย่างจากอัญมณี ส่วนคนที่ไม่เชื่อ ต่อให้เกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น ก็ไม่เชื่อว่าอัญมณีจะมีส่วนเกี่ยวข้อง ภูมิปัญญาของคนโบราณ เช่น การใช้อัญมณีบำบัดโรค การใช้อัญมณีเพื่อทำนาย แม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

เรื่องเล่าเกี่ยวกับการสวมใส่อัญมณีมีมากมายจนสามารถเขียนเป็นหนังสือได้หลายเล่ม แต่ก็เช่นเดียวกับเรื่องเล่าที่เกี่ยวพันกับความเชื่ออื่นๆ คือ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ไม่มีเหตุผลอะไรมารองรับ เป็นเพียงความรู้สึกว่าดีเมื่อได้สวมใส่อัญมณีชนิดนี้ เป็นประสบการณ์และเป็นเรื่องเล่าเฉพาะบุคคลที่คนอื่นอาจไม่เข้าใจ การเล่าให้ผู้ที่ไม่สนใจฟัง ก็เสี่ยงกับการถูกมองว่าเป็นคนงมงาย แต่ก็อย่าได้ลืมว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ก็ไม่อาจอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์

อำนาจลึกลับของอัญมณีจึงเป็นสิ่งลึกลับเฉพาะตัว ที่ต่อให้ฟังคนอื่นมาเท่าไร ก็ไม่เท่ากับได้มีประสบการณ์ด้วยตนเอง

บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ
กรณีต้องการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิง กรุณาติดต่อทีมงานค่ะผ่าน LINE: @LenyaJewelry ค่ะ