“เครื่องประดับ” เป็นสิ่งของที่ใช้เสริมเติมแต่งร่างกายเพิ่มเติมจากเสื้อผ้าที่สวมใส่ โดยมีส่วนช่วยเสริมให้รูปแบบการแต่งตัวปลี่ยนไป ถึงแม้ว่าเสื้อผ้าที่สวมใส่จะเป็นชุดเดิม ก็สามารถสร้างความรู้สึกเปลี่ยนใหม่ได้เมื่อใช้เครื่องประดับหรืออัญมณี นอกจากนี้ ในเรื่องความเชื่อและศาสนา เครื่องประดับยังถูกนำมาใช้เพื่อขับเน้นความสูงค่า ความศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระเครื่อง ไม้กางเขน หรือประคำ
ย่อหน้าข้างต้นนั้นเป็นความหมายโดยทั่วไปของเครื่องประดับ ซึ่งเราอาจจะแบ่งออกได้เป็น 2 ความหมายได้แก่ หนึ่ง การใช้งานทั่วไป คือเมื่อสวมใส่เครื่องประดับแล้ว จะสามารถสร้างความรู้สึกใหม่ขึ้น แม้ว่าจะสวมใส่เสื้อผ้าชุดเดิมก็ตาม และสอง การใช้งานในเชิงความเชื่อและศาสนา โดยใช้เครื่องประดับกับวัตถุ หรือรูปเคารพในทางศาสนา ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งสองความหมาย ต่างก็มีจุดร่วมคือ การใช้เครื่องประดับเสริมความโดดเด่นของวัตถุและผู้ครอบครองวัตถุ ซึ่งการจะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า “ความงามของเครื่องประดับ”คือองค์ประกอบสำคัญ
เครื่องประดับนั้น ประกอบด้วยอัญมณีและโลหะมีค่า เช่น ทองคำ เงิน ทองคำขาว ที่จะมาช่วยเสริมให้อัญมณีมีความโดดเด่น แต่หากมีเพียงสองอย่างนี้ เครื่องประดับทุกชิ้นก็คงจะไม่แตกต่าง การที่เครื่องประดับจะมีเอกลักษณ์ มีความงามที่หลากหลาย ตั้งแต่เรียบง่ายไปจนถึงพิสดารนั้น องค์ประกอบสำคัญก็คือ “การออกแบบเครื่องประดับ”
นักออกแบบเครื่องประดับ คือบุคคลที่มีความสำคัญยิ่งในการสร้างเครื่องประดับ เพราะแม้ว่าจะเป็นอัญมณีที่มีราคานับล้านบาท และประกอบด้วยโลหะมีค่าที่ดีที่สุด แต่หากไม่มีการออกแบบที่สวยงาม เครื่องประดับชิ้นนั้นก็อาจจะกลายเป็นเพียงเครื่องประดับทั่วๆ ไป ดังคำกล่าวของ รุจ นิโวลา (Ruth Nivola 1917-2008) ศิลปินและนักออกแบบเครื่องประดับชาวเยอรมันที่กล่าวว่า “การออกแบบเครื่องประดับ เป็นการทำสิ่งที่สวยงามด้วยตนเอง แม้จะทำจากวัสดุที่ไม่มีราคา ยังดีกว่าเพชรที่ออกแบบอย่างมีรสนิยมต่ำ” (http://preciouspieces.wordpress.com)
ผลงานของนิโวลา คือเครื่องประดับที่สร้างขึ้นด้วยเทคนิคการนำผ้าไหมมาถักให้เป็นรูปทรง และประดับด้วยลูกปัดของอินเดียนแดง เกิดเป็นเครื่องประดับที่ดูเสมือนเป็นสมบัติของผู้นำชนเผ่าหรือนักบวชในสมัยโบราณ ซึ่งหากไม่ใช่การออกแบบที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว ย่อมไม่สามารถสร้างเครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์เช่นนี้ได้
ในอดีต การออกแบบและสร้างเครื่องประดับมักจะมุ่งเน้นที่ความหรูหรา มีรายละเอียดที่ซับซ้อน วัสดุที่ใช้เป็นวัสดุที่มีราคาสูง ต้องใช้ความประณีต ใช้ทักษะระดับสูงในการสร้างขึ้น แต่ในปัจจุบัน การออกแบบเครื่องประดับจะมุ่งเน้นที่รูปทรงเรียบง่าย มีโครงสร้างที่ทันสมัยและโดดเด่น รูปแบบโดยรวมเน้นความกลมกลืน มากกว่าจะเน้นเรื่องรายละเอียดดังเช่นการออกแบบเครื่องประดับในอดีต
ปัจจุบัน องค์ความรู้ในการออกแบบและสร้างเครื่องประดับมีความก้าวหน้าไปมาก ในประเทศไทยเอง มีทั้งหลักสูตรการศึกษาในระดับปริญญาตรี และการเปิดคอร์สสอนการออกแบบจากสถาบันต่างๆ ทำให้ในแต่ละปี มีนักออกแบบเครื่องประดับชาวไทยรุ่นใหม่เกิดขึ้นปีละนับร้อยคน และนักออกแบบเครื่องประดับของไทยที่ไปสร้างผลงานมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติก็ปรากฎให้เห็นอย่างสม่ำเสมอ ด้วยวัตถุดิบที่มีความหลากหลายมากขึ้น และเทคโนโลยีในการออกแบบซึ่งอำนวยความสะดวกในหลายๆ ด้าน ส่งผลให้การสร้างสรรค์เครื่องประดับของไทยได้รับมาตรฐานในระดับสากล
ยิ่งไปกว่านั้น นักออกแบบเครื่องประดับของไทยเอง ก็มีความสามารถไม่น้อยไปกว่าใคร โดยได้สร้างผลงานการออกแบบเครื่องประดับซึ่งได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ หลายคนมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในต่างแดนแต่อาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนักในประเทศไทย อาทิ นุตร์ อารยะวานิชย์, ฐิติรัตน์ คัชมาตย์,ทวีศักดิ์ มูลสวัสดิ์ ฯลฯ ซึ่งผลงานหลายชิ้น เป็นการสร้างสิ่งที่ไม่มีมูลค่าเช่น กระดาษ ไม้ ถ่าน ให้กลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่า เป็นการออกแบบที่พ้นไปจากกรอบคิดที่ว่า เครื่องประดับต้องทำจากอัญมณี จากโลหะมีค่า เท่านั้น
เพราะ“ความงาม”นั้นไม่อาจถูกจำกัดด้วยวัสดุ ความพยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่คือการบุกเบิกของนักออกแบบและศิลปิน ซึ่งหากหัวใจของคนเรามองเห็น “ความงาม” ได้อย่างกว้างขวางไร้ขอบเขต แม้จะเป็นเพียงแค่แหวนกระดาษในมือเด็กน้อย ก็ย่อมเป็นเครื่องประดับที่มีความงามได้เช่นกัน
บทความดังกล่าวข้างต้นจัดทำโดยทีมงาน บริษัท เลนญ่า จิวเวลรี่ จำกัด ทางเราจึงขอสงวนสิทธิ์ การคัดลอกเนื้อหาทุกบทความของทางบริษัทฯ
กรณีต้องการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิง กรุณาติดต่อทีมงานค่ะผ่าน LINE: @LenyaJewelry ค่ะ